วันพุธที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

เทคนิคการหาจังหวะถัวเฉลี่ย (Average Timing)

           ในบทความที่ผมกล่าวถึง Money Management โดยมีการแบ่งการเข้าลงทุนในหุ้นแต่ละตัว สำหรับบทความนี้จะบอกถึงจังหวะในการซื้อเพิ่มครับ ซึ่งราคาใหม่ที่ได้นี่เราจะเรียกว่าราคาถัวเฉลี่ย หรือ Average Cost ส่วนวิธีการคำนวณหาราคาใหม่นี่ผมขอให้เป็นการบ้านสำหรับนักลงทุนนะครับเดี๋ยวนี้ไม่ยากครับมี Application บนมือถือหลายตัวที่ช่วยคุณในการคำนวณได้ ผมจะแนะนำเฉพาะจังหวะที่เหมาะสมในการถัวเฉลี่ยเท่านั้นครับ


การถัวเฉลี่ย (Average Cost) หมายถึง การที่คุณซื้อหุ้นตัวเดียวกันในเวลา ราคาและจำนวนที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น หุ้น PTT คุณซื้อครังแรกที่ 360 บาท จำนวน 300 หุ้น เมื่อเวลาผ่านไปราคา PTT ตกลงมาที่ 250 คุณก็ซื้อเพิ่มที่ 250 จำนวน 300 หุ้นเป็นต้น สิ่งที่เกิดขึ้นนี้จะทำให้ราคาต้นทุนใน port ของคุณลดลงจาก 360 บาทมาเป็น 305 บาท (วิธีการคำนวณไม่ขอกล่าวถีงในที่นี้นะครับ) จะเห็นว่าถ้าราคา PTT กลับไปที่ไม้แรกที่คุณเข้าซื้อ จะทำให้คุณมีกำไรเฉลี่ยที่ 55 บาทต่อหุ้นครับ ผมบอกว่ากำไรเฉลี่ยนะครับเพราะเราใช้ราคาเฉลี่ยมาคิดครับ จะเห็นว่ามีประโยชน์มากสำหรับการถัวเฉลี่ย แต่มีสิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ หุ้นที่คุณลงทุนและจะทำการถัวเฉลี่ยจะต้องเป็นหุ้นที่มั่นคงคือมีธุรกิจที่คาดว่าจะอยู่ได้อย่างยาวนาน เพราะตลาดเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาดังนั้นสภาวะที่หุ้นจะตกโดยมีเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้นในบางช่วงเวลานั้นย่อมเป็นไปได้ แต่ถ้าบริษัทเข้มแข็งราคาหุ้นก็จะกลับไป ณ จุดเดิมก่อนจะตกได้นะครับ ผมแนะนำให้ถัวเฉลี่ยในหุ้นที่อยู่ใน SET50 น่าจะปลอดภัยกว่า


ปัจจุบันมีคนใช้การถัวเฉลี่ยหรือทำ Average Cost อยู่ 3 ประเภทที่ผมแบ่งตามนักลงทุนนะครับ
1. ประเภทถัวไปเลยทุกราคา
     นักลงทุนประเภทนี้ไม่สนใจอะไรครับ ฟังข่าวอย่างเดียวไม่ดูพื้นฐาน ไม่สนใจเทคนิค มีเงินซะอย่างลงมาเท่าไหร่ก็ถัว ประเภทนี้จะมีจุดจบสองแบบครับคือได้กำไรอย่างเยอะ หรือไม่ก็หมดตัว เพราะเราไม่รู้หรอกครับว่าหุ้นที่เราถัวนั้นจะกลับมาเมื่่อไหร่หรืออาจไม่กลับมาเลยก็ได้ ยกตัวอย่างเช่นคนถัวหุ้นเหล็กบางบริษัท


2. ประเภทถัวตามพื้นฐาน
     นักลงทุนประเภทนี้จะถัวเมื่อราคาต่ำกว่าค่าในปัจจัยพื้นฐานที่ควรจะเป็นโดยจะรอจังหวะเวลาในการเข้าซ้ือและถือไว้ค่อนข้างนานครับ ที่เรารู้จักก็นักลงทุนประเภท VI ทั้งหลายนั่นละครับ


3. ประภทถัวตามสัญญาณเทคนิค
     ส่วนใหญ่นักลงทุนแนวเทคนิคมักจะใช้การ Cut loss แทนนะครับ ยกเว้นคนที่เป็นแบบ Hybrid คือมีการใช้พื้นฐานและเทคนิคอลผสมกัน จะใช้วิธีนี้ร่วมด้วยครับ


ในการถัวทั้ง 3 แบบ ผมว่าที่เหมาะสมและดูไม่ยากนักน่าจะเป็นแบบที่จะใช้ถัวตามสัญญาณเทคนิคครับ เพราะผมเองก็ใช้วิธีการนี้เช่นกัน และจังหวะในการถัวก็คือจังหวะที่เราคิดว่าจะกลับเป็นขาขึ้นแล้วเท่านั้นโดยดูจากสัญญาณทางเทคนิคครับ


มาลองดูตัวอย่างกัน ผมใช็ PTT เป็นตัวอย่างนะครับโดยใช้เส้นค่าเฉลี่ย EMA10 ที่ใช้ Timeframe Day ในการหาจังหวะถัวครับมาลองดูกัน
มีเงิน 300,000 บาทจะลงทุนในหุ้น PTT โดยสามารถแบ่งเงินออกเป็น 3 ส่วนเพื่อลงทุนใน 3 จังหวะหรือที่ผมแรียกว่า 3 ไม่นั้นละครับจะได้เงินลงทุนดังนี้ 100,000; 100,000; 100,000 ถ้าผมไม่รู้อะไรเลยผมจะซื้อไม้แรกที่ 299 บาทจำนวน 300 หุ้น ณ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2558 ตามกราฟเลยครับ จะเห็นว่าผมติดดอยทันที ทีนี้มาดูจังหวะถัวกัน



ผมจะเริ่มถัวที่ราคา 248 บาท จำนวน 400 หุ้น ณ วันที่ 23 ธันวาคม 2558 เพราะผมคาดว่ามันจะขึ้นเนื่องจากราคาตัดเส้น EMA 10 แล้วทำให้ผมได้ราคาเฉลี่ยต่อหุ้นอยู่ที่ 270 บาท โดยประมาณกลายเป็นต้นทุนคุณลดลงไป 29 บาท ทีนี้จะเห็นว่าหลังจากนั้นหุ้นก็ยังตกต่ออีก ผมยังเหลือถัวได้อีกครั้งครับมาลองดูกันต่อ


ผมซื้อถัวเฉลี่ยอีกครั้งเป็นครั้งสุดท้ายแล้วครับสำหรับหุ้นตัวนี้ (จำเรื่อง Money Management ได้ไหมครับจริงๆ แล้วผมยังเหลือเงินสดใน port อยู่อีกแต่เอาไว้ให้สุดๆ จริงๆ ถึงจะใช้นะครับ) ผมจะเข้าซื้อที่ 220 จำนวน 400 หุ้น ณ วันที่ 22 มกราคม 2559 จากกราฟจะเห็นได้ว่าราคาตัวเหนือเส้น EMA ผมไม่รู้หรอกครับ ณ วันนั้นหุ้นจะขึ้นหรือลงต่อ แต่ก็ทำตามสัญญาณเท่านั้น หลังจากนั้นผมก็ถือครับ ตอนนี้ผมมีต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 252 บาท ราคาต่ำกว่าทุนแรกที่ 47 บาทครับ เดี๋ยวมาดูว่าถ้าหุ้นกลับตัวแล้วผมจะขายตอนไหน


การทำถัวเฉลี่ยแบบนี้มีการขายอยู่ 3 แบบครับสำหรับจิตใจแต่ละคนเลย

1. ขายเมื่อราคามายืนเหนือราคาเฉลี่ย
     สำหรับคนอยากได้ทุนคืนพร้อมกำไรนิดหน่อยใจร้อนอยากหลุดดอยไวๆ เพื่อให้สบายใจครับ

2. ขายเมื่อราคากลับมาที่ราคาแรก
     สำหรับคนที่รอได้และมั่นใจว่าหุ้นจำกลับมาที่ราคาเดิม แต่ไม่มั่นใจว่าจะไปต่อสำหรับตรงนี้คุณจะได้กำไรจากราคาถัวเฉลี่ยที่ 47 บาทต่อหุ้น ตอนนี้มี 1,100 หุ้น จะได้กำไรประมาณ 51,700 จากทุน 300,000 คิดเป็น 17.2%

3. ขายเมื่อราคากำไรที่เราคาดหวังตอนแรก
    เช่นตอนคุณซื้อที่ 299 คุณตั้งใจจะขายทำกำไรที่ 5% คือ 315 บาท โดยประมาณ ถ้าขายตรงนี้จะได้กำไรเฉลี่ยทั้งหมด 63 บาทต่อหุ้น นั้นคือ 69,300 คิดเป็น 23.1%

สรุปสิ่งสำคัญในการลงทุนก็คือ วินัยในการลงทุนครับเมื่อคุณทำตามแผนการลงทุน แล้วสุดท้ายอย่างไรคุณก็จะได้กำไรจำไว้ว่าหุ้นที่คุณเลือกลงทุนต้องเป็นหุ้นที่จะอยู่กับเราได้ตลอดไปเสมอครับ ไม่อย่างนั้นการถัวเฉลี่ยของคุณก็จะนำไปสู่ความล้มเหลวนะครับ หวังว่าแนวทางการถัวเฉลี่ยที่ผมแนะนำจะมีประโยชน์กับนักลงทุนทุกท่านครับ


1 ความคิดเห็น:

Comments system

Disqus Shortname